วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

หมู่เกาะสุรินทร์

หมู่เกาะสุรินทร์ ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสไตล์การศึกษาธรรมชาติยอดฮิตของจังหวัดพังงา และถือเป็นที่สุดแห่งป่าปะการังและวิถีชาวเลก็ว่าได้เลยค่ะ แถม อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ยังเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่สมบูรณ์บริสุทธิ์เป็นที่รวมของระบบนิเวศจากป่าดิบชื้น ป่าชายหาด ป่าชายเลน มาประจบกับแนวปะการัง ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่หลากหลายที่สุดในท้องทะเล
          และด้วยอาณาเขตที่ครอบคลุมทั้งทะเลและพื้นป่าอันสุดสมบูรณ์ จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ตั้งแต่ปลาใหญ่ที่สุดในโลก เช่น ฉลามวาฬ จนถึงนกหายากอย่าง กระแตผีชายหาด ชาปีไหน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น บ่าง จึงไม่มีเหตุผลใดที่ผู้ไปเยือนจะก่อความเสียหาย ทำลาย หรือแม้แต่กระทำการรบกวนต่อเจ้าของบ้าน เช่น ปูเสฉวนตัวเล็ก ๆ สักตัว








สถานที่ศึกษาเส้นทางธรรมชาติ
          อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะประมาณ 2 กิโลเมตร จากที่ทำการ ฯ สู่หาดไม้งาม การเดินทางไปกลับอย่างน้อย 2 ชั่วโมง สำหรับการซึมซับและสัมผัสถึงเส้นทางที่รวมความหลากหลายของป่าดิบ จนถึงแนวปะการังไว้ในที่แห่งเดียว

          ป่าดงดิบ เป็นป่าที่มีพื้นที่มากที่สุด มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยพรรณไม้หลายชนิด เช่น คอแลน มะยง เท้าแสนปม กระเบากลัก ลำป้าง มะพลับ รวมถึงพันธุ์ไม้หายากอื่นอีกมากมาย นอกจากนี้ ยังมีพรรณไม้ชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย และจากสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์นี้จึงเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะนกซึ่งพบมากกว่า 80 ชนิด เช่น นกขุนทอง นกลุมพูขาว นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกชาปีไหน (เป็นนกที่หายาก) และหากเดินไปตามชายทะเลจะพบนกยางทะเล นกนางนวล เหยี่ยวแดง บินเหนือท้องทะเลเพื่อล่าปลาเป็นอาหาร ส่วนภายในป่าจะพบลิงกังอยู่เป็นฝูงใหญ่ ค้างคาวแม่ไก่ และค้างคาวหนูผี
          ด้านไม้เถาเลื้อย ได้แก่ เถาปลอง แสลงพันเถา ลิ้นกวาง ขมัน เป็นต้น ป่าชายหาด เช่น โพกริ่ง กระทิง ตีนเป็ดทะเล สนทะเล เป็นต้น และป่าชายเลน เช่น โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก โกงกางหัวสุม ตะบูน ลำแพนหิน ตีนเป็ดทะเล หรือพืชอิงอาศัยพวกกระแตไต่ไม้ และกล้วยไม้บางชนิดค่ะ




สิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง

          แนวปะการังที่พบในหมู่เกาะสุรินทร์เป็นแนวปะการังริมฝั่ง หรือที่เรียกกันว่า Fringing Reef ปะการังที่พบได้มาก ได้แก่ ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังเขากวาง ปะการังโขดหรือปะการังนิ้วมือ ปะการังดอกเห็ด ปะการังแผ่นเปลวไฟหรือปะการังดอกจอก ปะการังสมอง ปะการังจาน ปะการังไฟ ดอกไม้ทะเล ปะการังอ่อน กัลปังหา และปากกาทะเล เป็นต้น

          ส่วนบริเวณดำน้ำดูปะการังจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ปะการังน้ำลึก และ ปะการังน้ำตื้น ซึ่งมีสถานที่ดำน้ำ ดังนี้...          แหล่งดำน้ำลึกที่โดดเด่นมากที่สุด ก็คือ กองหินปริ่มน้ำที่มีชื่อว่า ริเชลิว ซึ่งกำลังจะถูกผนวกเข้ากับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ กองหินนี้อยู่ห่างจากเกาะสุรินทร์มาทางทิศตะวันออกประมาณ 14 กิโลเมตร
          ส่วนแหล่งดำน้ำตื้นเกือบทุกอ่าวจะเต็มไปด้วยแนวปะการังแข็งที่สมบูรณ์ที่สุดของท้องทะเลไทย เป็นที่อาศัย หากิน หลบภัย และขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากในระบบนิเวศ ทั้งหมดนี้สามารถชมได้เพียงก้มมองใต้ผิวน้ำ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงไม่พลาดโอกาสที่จะต้องลงดำน้ำตื้นเมื่อมาถึงหมู่เกาะสุรินทร์ จุดดำน้ำตื้นที่สำคัญของเกาะสุรินทร์ ได้แก่

1. อ่าวแม่ยาย มีปะการังแข็ง ปะการังอ่อน หอยมือเสือ         
2. หินกอง บริเวณนี้มีปลาใหญ่เยอะหน่อย          
3. อ่าวเต่า มีปลาและหนอนพู่ฉัตร          
4. อ่าวมังกร จะมีกลุ่มดอกไม้ทะเลและปลาการ์ตูน          
5. เกาะตอรินล่า มีเต่าทะเล ปลาฉลามหูดำและแนวปะการังเขากวาง          
6. อ่าวสุเทพ มีกัลปังหา ปะการังและปลาตามพื้นหน้าดิน อาทิ ปลากระเบน ปลาโรนัล          
7. อ่าวไม้งาม มีปลาน้อยใหญ่ ตามปะการังจำนวนมาก          
8. อ่าวจาก บริเวณนี้มีปะการังและปลาเยอะ          
9. อ่าวผักกาด เน้นดูปลานานาชนิด          
10. เกาะสต๊อก ที่นี่จะมีปลาใหญ่ ๆ ให้ดูเยอะ